02 149 5555 ถึง 60

 

การแพทย์ทางไกล

การแพทย์ทางไกล

ถนนสุขภาพ... เรื่องโดย... นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

“การแพทย์ทางไกล” (telemedicine) ในอดีต คือ การติดต่อสื่อสารโดยไปรษณีย์ โทรเลข วิทยุ และ/โทรศัพท์ เพื่อขอและ/หรือเพื่อให้คำปรึกษา คำแนะนำ คำอธิบาย และ/หรือคำสั่งเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค และ/หรือการรักษาพยาบาล ระหว่างลุคลากรทางการแพทย์ด้วยกัน หรือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและ/หรือญาติของผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่โดนเฉพาะทางโทรศัพท์

ส่วน “การแพทย์ทางไกล” ในปัจจุบัน มักหมายถึง การติดต่อสื่อสารด้วยระบบและเครื่องมือสื่อสารแบบใหม่ ที่สามารถเห็นหน้าผู้พูดและผู้ฟังได้ครั้งละคนหรือครั้งละหลายๆ คนพร้อมกัน เช่น ในการประชุม รวมทั้งสามารถส่งภาพต่างๆ เช่น ภาพบาดแผล ภาพสัตว์และพืชที่ทำให้เจ็บป่วย ภาพเอกซเรย์ ภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ให้เห็นได้ระหว่างการสื่อสารนั้น ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสื่อสารดีขึ้นมาก

ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่นห่างไกล จึงมีความสะดวกสบายและทันใจมากขึ้นเมื่อต้องการความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญมากกว่า ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในเมืองใหญ่

แม้แต่ในเมืองใหญ่เอง การที่ผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อไปพบแพทย์ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียเวลา “รถติด” (โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ) และจากการต้องไปนั่งรอแพทย์ รอรับยา ฯลฯ แล้วบ่อยครั้งยังต้องเสียอารมณ์ (เสียสุขภาพจิต) จากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (ไม่พอใจ) ต่างๆ

“การแพทย์ทางไกล” จึงเป็นประโยชน์มาก และอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

①การเก็บข้อมูลและส่งต่อ (store-and-forward telemedicine)

ปัจจุบันเราสามารถเก็บข้อมูลของผู้ป่วย เช่น ประวัติการเจ็บป่วย ยา การผ่าตัด การดูแลรักษาอื่นๆ ประวัติส่วนตัวและครอบครัว ไว้ในหน่วยเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ (online data file) ไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลไว้ในแฟ้ม (เวชระเบียน) ซึ่งยากต่อการเก็บและการค้นหา รวมทั้งการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยเพื่อไปปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญกว่าโดยทางออนไลน์

ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์ที่จะส่งผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลอื่นต้องเขียนใบส่งต่อผู้ป่วยโดยย่อประวัติผู้ป่วย ผลการตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ การรักษาพยาบาลที่เคยให้ผู้ป่วยไปแล้วและกำลังให้อยู่ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เวลามากและไม่มีรายละเอียดเท่ากับข้อมูลทางออนไลน์เลย

นอกจากนั้น ผู้ป่วยและญาติมักจะต้องเป็นผู้นำ “ใบส่งต่อ” ไปยังโรงพยาบาลอื่นด้วยตนเอง ทำให้ผู้ป่วยและญาติต้องเสียเวลาแลค่าใช้จ่ายมาก และถ้าแพทย์ผู้รับ “ใบส่งต่อ” เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหม่ และส่งผู้ป่วยกลับไปยังโรงพยาบาลเดิม ยิ่งเพิ่มภาระแก่ผู้ป่วยและญาติเป็นทวีคูณ

การขอส่งต่อทางออนไลน์ จึงช่วยลดภาระของผู้ป่วยและญาติลงได้อย่างมาก และทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น จากคำแนะนำผ่านทางออนไลน์โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญกว่า เป็นต้น

นอกจากนั้น ในกรณีที่ปัญหานั้นยุ่งยากหรือซับซ้อน ก็สามารถขอปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ สาขาพร้อมกัน เป็นการประชุมออนไลน์ (online conference) โดยทุกคนที่เข้าร่วมประชุมสามารถเห็นหน้าเห็นตาและเห็นข้อมูลพร้อมกัน เป็นต้น ทำให้ได้ข้อสรุปที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น

②การติดตามดูแลทางไกล (remote patient monitoring)

ในปัจจุบันมีอุปกรณ์การแพทย์จำนวนมากที่ผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้วัดข้อมูลสำคัญบางอย่างได้เอง เช่น สัญญาณชีพ (อุณหภูมิ ชีพจร ความดันเลือด อัตราการหายใจ) “ความอิ่มออกซิเจนในเลือด” (blood oxygen saturation) ระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถรายงานข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ทราบตามวันเวลาที่นัดหมายกันไว้ หรือเมื่อผลการตรวจวัดนั้นผิดปกติหรือผิดไปจากเกณฑ์ที่บุคลากรทางการแพทย์แนะนำไว้ เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น อุปกรณ์ที่พิเศษมากขึ้นที่สามารถติดแนบกับร่างกายผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อติดตามเฝ้าดูข้อมูลสำคัญบางอย่างตลอดเวลา และส่งเสียงแจ้งเตือนผู้ป่วยและ/หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ไกลออกไปได้ทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและ/หรือญาติให้รีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็น เป็นต้น

③สุขภาพทันทีทางไกล (real-time telemedicine)

คือ ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์คนใดก็ได้ที่ตนต้องการ โดยสามารถพูดคุยกันแบบเห็นหน้าเห็นตากันทางออนไลน์ ซึ่งอาจจะเป็นแบบติดต่อได้โดยตรงหรือผ่านศูนย์การแพทย์ทางไกล (telemedicine center) เป็นต้น

ข้อดีของ “การแพทย์ทางไกล”

1. คุณภาพของการรักษาพยาบาลดีขึ้น โดยเฉพาะต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่

ผู้ป่วยในเมืองใหญ่ ก็สามารถได้รับการติดตามดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ได้บ่อยขึ้นหรือตลอดเวลาผ่านทางออนไลน์ โดยผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ต้องไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านเช่นกัน

2. เพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็ว ในการขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกัน และระหว่างผู้ป่วย/ญาติกับบุคลากรทางการแพทย์

3. ลดค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลา ในการเดินทาง การรอพบ/รอตรวจ/รอยา และอื่นๆ รวมทั้งลดการเสียสุขภาพจิตจากการรอและการเจอกับสิ่งไม่ประสบอารมณ์ เป็นต้น

4. ลดความแออัดในโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพราะสามารถรับการรักษาพยาบาลทางไกลได้ ความแออัดในโรงพยาบาลจะลดลง ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลได้รับการดูแลอย่างเต็มที่มากขึ้น และลดเวลารอตรวจ/รอเตียง/รอหมอว่างก่อน ฯลฯ ลง

5. ลดการติดเชื้อโรคลง เนื่องจากโรงพยาบาลมีผู้ป่วยด้วยโรคนานาชนิด รวมทั้งโรคติดเชื้อ การไปโรงพยาบาลจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคจากผู้อื่นโดยตรงหรือโดยอ้อม (จากการสัมผัสเก้าอี้ ราวบันได ห้องสุขา ฯลฯ) ที่ผู้อื่นได้ใช้มาก่อน

ในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังระบาดมากทั่วโลก การใช้ “การแพทย์ทางไกล” จึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะการ “อยู่บ้าน” จะป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อได้ดีมากวิธีหนึ่ง

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มนำร่อง “การแพทย์ทางไกล” ใน 27 โรงพยาบาลในสังกัด ในเดือนมีนาคม 2564 เช่น

โรงพยาบาล : นพรัตนราชธานี, ราชวิถี, เลิดสิน, สงฆ์ เป็นต้น

โรงพยาบาลมะเร็ง : ลพบุรี, สุราษฏร์ธานี, อุดรธานี, อุบลราชธานี เป็นต้น

โรงพยาบาลธัญญารักษ์ : ขอนแก่น, เชียงใหม่, สงขลา, อุดรธานี เป็นต้น

สถาบัน : ทันตกรรม, ประสาทวิทยา, พยาธิวิทยา, มะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น

หลังเปิดบริการได 2 เดือน มีผู้ใช้บริการผ่าน VDO call 4,316 ราย และรักษาทางไปรษณีย์ 7,717 คน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อดูจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่กับโรงพยาบาลทั้ง 27 แห่ง

ข้อเสียของ “การแพทย์ทางไกล”

1. ความไม่พร้อมด้านระบบและอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ระบบสื่อสารออนไลน์ไปไม่ถึง ในผู้ป่วยที่ยังใช้ระบบสื่อสารออนไลน์ไม่เป็นหรือไม่คล่อง หรือไม่มีอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อหาและจัดตั้งระบบและอุปกรณ์ดังกล่าว

ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำลังจัดตั้ง “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” ควรจะได้จัดการให้ “การแพทย์ทางไกล” เป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งศูนย์นี้ด้วย

2. ความไม่พร้อมด้นบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะการจัดหาแพทย์และพยาบาลที่จะมาอยู่เวรรอให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ซึ่งเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากภาระงานเดิมที่หนักมากอยู่แล้ว

อนึ่ง แพทย์และพยาบาลจำนวนมาก อาจไม่ชำนาญในทุกโรคและทุกระบบของร่างกาย พอที่จะให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือได้ ทำให้ไม่สบายใจที่จะรับงานดังกล่าว

จึงควรจัดตั้ง “ศูนย์การแพทย์ทางไกล” คล้ายศูนย์ “191” หรือศูนย์ “1669” ที่สามารถส่งต่อคำขอความช่วยเหลือไปยังแพทย์ พยาบาล หรือโรงพยาบาลที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือในปัญหานั้นๆ โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยมะงุมมะงาหราหาเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกับบุคคลหรือโรงพยาบาลที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือตน เป็นต้น

3. ความรู้สึกห่างเหินกัน ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาพยาบาลไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน

ความรู้สึกห่างเหินกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ต่อเนื่องอีกด้วย (มีการวิจัยสนับสนุนเรื่องนี้)

ผู้ป่วยกับแพทย์ที่ดูแลรักษากันมานาน เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงไปและไปพบแพทย์ พอเจอหน้าแพทย์มักจะรู้สึกดีขึ้นทันที บางครั้งถึงกับพูดว่า “เห็นหน้าหมอ ก็หายแล้ว”

นี่คือ ผลทางจิตใจของความคุ้นเคยกัน ไว้ใจกัน เชื่อถือ ศรัทธา หรืออื่นๆ ซึ่งเกิดได้ยากในการสื่อสารออนไลน์

4. การรักษาพยาบาลออนไลน์อาจผิดพลาดได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยกับแพทย์หรือพยาบาลไม่เคยรักษาพยาบาลกันมาก่อน เพราะแพทย์/พยาบาลจะไม่สามารถซักประวัติการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบันและอดีต ประวัติส่วนตัวและครอบครัว ฯลฯ ได้ดีเท่าการซักถามกันโดยตรง รวมทั้งการสังเกตปฏิกิริยาของผู้ป่วยในการตอบการซักถาม ว่าคำตอบนั้นจริงหรือเท็จ รวมทั้งการไม่ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยตรง จึงอาจทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้

5. การลักลอบล้วงข้อมูลของผู้ป่วยและ/หรือบุคลากรทางการแพทย์ เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นเดียวกับการสื่อสารออนไลน์ต่างๆ จึงต้องระวังเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ทำให้ “อุตสาหกรรมการแพทย์ทางไกล” (telemedicine industry) เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว

มีการผลิตอุปกรณ์เพื่อ “การแพทย์ทางไกล” ให้กะทัดรัด ใช้ง่ายขึ้น ติดตั้งสะดวก และ “โดนใจ” ผู้ซื้อมากขึ้น เช่น “Telemedicine Station”, “Telemedicine Desktop Station” เป็นต้น

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ที่ใช้ “การแพทย์ทางไกล” ประมาณ 96,000 รายใน พ.ศ.2562 แต่ในปี พ.ศ.2563 มีผู้ใช้ประมาณ 18 ล้านราย (เพิ่มขึ้นประมาณ 190 เท่า)

มูลค่าตลาดของ “การแพทย์ทางไกล” ใน พ.ศ.2562 ประมาณ 41,630 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“การแพทย์ทางไกล” จึงกำลังกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำกำไรมหาศาลเช่นเดียวกับธุรกิจยา รวมทั้งยา “วัคซีนต้านโควิด-19” ที่ทำให้บริษัทผลิตวัคซีนได้กำไรไปมหาศาล

จึงควรระวังการใช้ “การแพทย์ทางไกล” อย่าให้เป็นเหยื่อของ “อุตสาหกรรมการแพทย์ทางไกล” ได้!!🖳

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 508 เดือนสิงหาคม 2564

20 September 2564

By STY/Lib

Views, 11107

 

Preset Colors